มกร สัตว์ในตำนานที่หลายคนยังไม่เคยรู้!
มกรคายนาคเชิงบันไดพระอุโบสถวัดธาตุฝุ่น,
นครหลวงเวียงจันทน์, ประเทศลาว ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/มกร
มาทำความรู้จักกับมกรกันค่ะ เป็นศิลปะที่นิยมอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนอาจเคยเห็นมาบ้างแล้วตามวัดวาอารามในบ้านเรา และอาจสงสัยว่าเจ้าตัวนี้คือตัวอะไรที่กำลังกินหรือคายนาคอยู่ที่ราวบันไดของโบสถ์ เรามาหาคำตอบกันค่ะ
มกร หรือ เบญจลักษณ์ เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการที่พบแพร่หลายมากในศิลปกรรมโบราณของอินเดียและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ โดยแรกเริ่มในศิลปะอินเดียนิยมนำมาประดับไว้เหนือซุ้มทางเข้าศาสนสถาน และต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมๆ กับการแพร่หลายทางศาสนาจากอินเดีย ดังเช่น ปรากฏอยู่บริเวณทับหลังเหนือซุ้มประตูของปราสาทในศิลปะเขมร และมกรยังปรากฏในศิลปกรรมอื่นๆอีกมากมายทั่วภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เช่น พม่า ล้านช้าง ล้านนา โยนกเชียงแสน สยาม เวียดนาม และเขมร และยังเชื่อว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มกรยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เหรา"
(อ่านว่า เห-รา) เหรา มีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระธาตุ โบสถ์
วิหาร เขาพระสุเมรุ ตามคติ จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ นอกจากนั้นแล้ว
มกรยังมีอีกชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ ตัวสำรอก เนื่องจากในงานศิลปะ
มกรมักจะคายหรือสำรอกเอาวัตถุต่าง ๆ ออกมาทุกครั้ง เช่น มกรคายนาค (พญานาค) มกรจัดเป็นพาหนะสำหรับพระแม่คงคา
และพระวรุณ เทพแห่งทะเลและสายฝน ในทางความเชื่อของล้านนา จะใช้มกรในพิธีขอฝน
ตามทางเข้าเทวสถานในศาสนาฮินดูและศาสนาสถานในพุทธศาสนามักทำรูปมกรไว้เป็นอารักษ์ประจำปากทางนั้น
ๆ ด้วย
ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า มกร คือ สัตว์ผสมระหว่างจระเข้กับช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ดังนั้นมกรจึงเป็นสัญลักษณ์มงคล สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้มกรมักจะคายสิ่งต่างๆ ออกมาจากปากเสมอ เช่น คายท่อนพวงมาลัย หรือ รูปสัตว์ต่างๆ ยังสามารถสื่อถึงการเป็นผู้ให้ทุกสิ่งได้อีกด้วย ดังนั้น การประดับรูปมกรไว้เหนือกรอบประตู จึงเชื่อกันว่าเป็นไปเพื่ออวยพรแด่ศาสนิกชนที่เดินทางมาสักการะให้ได้รับความอุดมสมบูรณ์ และความสุขสวัสดี ติดตัวกลับไป
ประติมากรรมมกรคายนาค
วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มา : https://www.voicetv.co.th/read/476343
เรื่องราวของมกรคายนาค
เรื่องราวของมกรคายนาคแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องราว คือ
1. ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ในอาณาจักรโยนกนคร หรือ
โยนกนาคนครเชื่อกันว่า ชาวเมืองสืบเชื้อสายมาจากพญานาค
ต่อมาอาณาจักรล่มสลายเพราะเหตุแผ่นดินไหว
ผู้คนพากันอพยพไปตั้งรกรากยังดินแดนล้านนา
และยังคงความเชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพญานาคและนับถือเป็นสิ่งศักสิทธิ์อยู่
ส่วนตัวมกรนั้นเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนจากพม่า
ต่อมาพม่าได้เข้าครอบครองอาณาจักรล้านนา ดังนั้น มกรคายนาคในศิลปะทางภาคเหนือนั้น
จึงเป็นความเชื่อว่าพม่าต้องการข่มอาณาจักรล้านนาที่อยู่ภายใต้การปกครองเหมือนกับว่าพญานาคอยู่ในปากของมกร
2. ในทางพุทธศาสนา มกร หมายถึง ความยึดติด ความลุ่มหลง ส่วนพญานาคนั้นหมายถึงร่างกาย จิตใจ
เปรียบเหมือนกับความยึดติด
ความลุ่มหลงจะติดตัวเราและครอบงำเราไปตลอดจนกว่าเราจะรู้จัก อุเบกขา
หรือการปล่อยวาง จึงจะหลุดพ้น เปรียบเหมือนกับมกรที่คายพญานาคออกมา
มกรกับศิลปะ
โดยทั่วไปแล้ว เราจะปรากฎเห็นมกรในรูปแบบของ มกรคายนาค
ตามราวบันไดของวัด วิหาร เจดีย์ และอุโบสถ นอกจากนั้น
มกรยังปรากฎในหน้าบันของวิหาร หรือบนทับหลังของปราสาทโบราณทั้งในอินเดียและในเอเชียอุษาคเนย์ รวมทั้งมีงานแกะสลักประติมากรรมมกรในศิลปะจีนอีกด้วย
โดยลักษณะของมกรนั้นมีลำตัวยาวเหยียดคล้ายพญานาค มีขายื่นออกมาจากลำตัว
ส่วนหัวเป็นปากจระเข้โดยปากนั้นกำลังคายพญานาคออกมา โดยพญานาคอาจมีมากกว่า 1 เศียรก็ได้
มกรคายนาคในปัจจุบันนั้นสามรถพบได้ในประเทศพม่า ลาว
และในแถบภาคเหนือของประเทศไทย
ปะติมากรรมมกรคายนาคเจ็ดเศียร
เชิงบันไดวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/มกร
มกรบนลวดลายทับหลัง,
ปราสาทสมโบร์ไพรกุก, กำปงธม, กัมพูชา ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/มกร
อ้างอิง
วิกิพีเดีย , มกร , ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/มกร , วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2561
ตัวกินนาค , 2556 , ที่มา https://talk.mthai.com/inbox/370880.html , วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2561
มกร-มอมสัตว์จินตการเฝ้าพุทธสถาน , 2554 , ที่มา http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/116641
, วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2561
ไทยทัศนา (22) : วัดพระธาตุลำปางหลวง
(ตอนที่หนึ่ง) , กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี , 2560 , ที่มา https://www.voicetv.co.th/read/476343
, วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2561
มกรคายนาค (พญานาค) ,
ราม วัชรประดิษฐ์ , คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง , ข่าวสด , ที่มา http://www.itti-patihan.com/%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84-%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84.html
, วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2561
|
Comments
Post a Comment